ผลิตภัณฑ์กันแดด เพื่อนแท้ของนักแล่นใบ

แสงแดดเป็นสิ่งที่นักเล่นกีฬาทางน้ำต้องเจอ ซึ่งสิ่งที่มาคู่กันกับแสงแดดก็คือรังสีต่างๆ และที่คนกังวลและกลัวมากที่สุดก็คือรังสี UV นักเล่นวินด์เซิร์ฟที่ดีจึงควรรู้จักหาวิธีป้องกันตนเองจากอันตรายที่มาพร้อมกับแสงแดดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าเมื่อไม่มีร่มกลางทะเลให้หลบ การป้องกันตนเองจากอันตรายที่มาพร้อมกับแสงแดดก็คือการใช้สารกันแดดนั่นเอง

ผลิตภัณฑ์กันแดด (sun protection product) เป็นสิ่งที่ผู้คนที่ต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งควรใช้ โดยทั่วไปแล้วจะถูกกำหนดมาตรฐานสากลไว้ด้วยระดับของ SPF (sun protection factor) และ PFA (protection factor of UV-A)

ค่า SPF ที่คุ้นหูอย่างเช่น SPF-15, SPF-30 หรือ SPF-50 หมายถึงค่าประสิทธิภาพในการป้องกันการไหม้แดงของผิวที่เกิดจากรังสี UV-B ซึ่ง UV-B เป็นรังสีที่ปนมาในแสงแดด มีอำนาจในการทำให้ผิวหนังบวมแดง ไหม้และลอก ตามปกติแล้วผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF ระหว่าง 2-15 จะสามารถดูดซับหรือสะท้อนรังสี UV-B ได้ที่ 50-90% ส่วนค่า SPF 15-30 จะมีประสิทธิภาพที่ 90-96% ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 30-50 จะมีประสิทธิภาพดูดซับหรือสะท้อนรังสีได้ที่ 96-98% กล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปมีคุณสมบัติแทบไม่แตกต่างกัน

ค่า PFA เป็นความสามารถในการป้องกันรังสี UV-A ซึ่งเป็นรังสีที่ทะลุทะลวงได้ดีกว่า UV-B โดยมันจะทะลุชั้นผิวหนังลงไปถึงหนังแท้ แล้วไปทำลายในส่วนของเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติก และมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเม็ดสีหรือเมลานินที่มีความเข้มมากขึ้นหรือกลายเป็นผิวสีแทน ซึ่งค่าของ PFA จะมีตั้งแต่ 2-4, 4-8 และตั้งแต่ 8 ขึ้นไป ยิ่งมีค่าสูงก็ยิ่งป้องกันการทะลุผ่านของ UV-A ได้มากกว่า

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดมีให้เลือกอย่างมากมายหลากหลายสูตร โดยผู้ผลิตจะผลิตออกมาเป็น 3 รูปแบบคือแบบครีมหรือโลชั่นเรียกว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์อิมัลชั่น โดยการเอาสารประกอบหลายๆ ตัวมากวนรวมกัน ผู้ใช้งานต้องทาครีมหรือโลชั่นบนผิวกายและใบหน้า ซึ่งอาจจะรู้สึกเหนอะหนะได้ ทำให้นอกจากการแข่งขันเรื่องคุณภาพป้องกันแสงแดดแล้ว ยังเกิดการแข่งขันกันว่าใครจะผลิตสารกันแดดที่เหนอะหนะน้อยกว่ากันอีกด้วย

รูปแบบต่อมาคือรูปแบบเจล ซึ่งเป็นอีกระดับของสารกันแดด เนื่องจากมันมีเนื้อผลิตภัณฑ์ที่สวยงามกว่า มีความใส น่าใช้งานมากกว่า แต่ปัญหาใหญ่ของผลิตภัณฑ์แบบเจลคือการที่มันมีสภาพเหมือนแผ่นฟิล์มบางๆ ทำให้เมื่อโดนน้ำมักหลุดเลือนได้ง่ายกว่าแบบครีมหรือโลชั่น แถมส่วนใหญ่แล้วมักมีราคาแพง

รูปแบบสุดท้ายคือรูปแบบสเปรย์ เป็นรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้งาน มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อใช้งานจะดูกลืนไปกับผิวมากกว่า เพราะถ้าเป็นแบบครีมมักทำให้เกิดปื้นขาวหรือคราบขาวที่ชัดเจน แต่ประสิทธิภาพของแบบสเปรย์นี้ถือว่าน้อยที่สุดในกลุ่มเพราะมักเกิดการเคลือบผิวที่ไม่ทั่วถึงต่อเนื่อง ทำให้สามารถเกิดระดับสีผิวที่แตกต่างกันได้

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักวินด์เซิร์ฟยังต้องคำนึงถึงเรื่องของระยะเวลาในการป้องกันรังสีต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ว่าในการใช้งานแต่ละครั้งสามารถอยู่ทนได้นานแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับระดับของสารกันน้ำ (water resistance product) ซึ่งมีค่ากลางๆ ให้เลือกอยู่ที่ 40 กับ 80 นาทีด้วยกัน

แต่การป้องกันตนเองจากแสงแดดด้วยผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างเดียวยังไม่จบ เพราะเมื่อเสร็จจากกิจกรรมกลางทะเลแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ควรต้องใช้ร่วมด้วยคือผลิตภัณฑ์หลังออกแดด (after-sun product) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารลดการอักเสบของผิวจากการโดนแสงแดดหรือสารที่ผสมอยู่ในสารกันแดด เพราะแม้จะมีสารกันแดดช่วยแล้วแต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันได้ 100% แถมในสารกันแดดเองยังมีส่วนผสมบางอย่างที่อาจทำให้ผิวเกิดอาการแพ้ได้ด้วย ผลิตภัณฑ์หลังออกแดดจึงเป็นตัวช่วยที่ปิดท้ายการเล่นกิจกรรมกลางแจ้งอย่างวินด์เซิร์ฟได้เป็นอย่างดี

การเล่นวินด์เซิร์ฟจึงไม่ใช่เพียงแค่การรู้จักวิธีเล่นให้สนุกและเก่งเท่านั้น หากแต่การรู้จักป้องกันตนเองจากแสงแดดและหลังออกแดดก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์คู่กายที่ควรมีไว้เสมอเช่นเดียวกับอุปกรณ์วินด์เซิร์ฟนั่นเอง