สารกันแดด เรื่องสำคัญที่นักเล่นวินด์เซิร์ฟต้องเรียนรู้

การออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี เพราะการได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอจะช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้มีประสิทธิภาพ แถมยังได้รับความสุข ความสนุกไปด้วย แต่ตัวกวนใจเบอร์หนึ่งของเหล่าผู้ชอบออกกำลังกายกลางแจ้งชาวไทยก็น่าจะเป็นแดดแรงๆ นี่แหละ ที่มาทั้งความร้อนและภัยอันตราย

วินด์เซิร์ฟเป็นกีฬาทางน้ำที่เล่นท่ามกลางแสงแดดแบบหมดสิทธิ์หนีเข้าร่ม การที่ร่างกายของนักกีฬาต้องเผชิญกับแสงแดดโดยตรงตลอดการแข่งขันหรือเล่นย่อมเลี่ยงผลกระทบจากแสงแดดและความร้อนไม่ได้ การป้องกันตนเองจากอันตรายที่แฝงมากับแสงแดดแผดเผาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก

ในแสงแดดมีอะไร? แสงแดดที่ส่องลงมาบนพื้นผิวโลกประกอบด้วยรังสีหลายอย่าง แต่ตัวที่มีผลต่อมนุษย์มากที่สุดคือ UV ซึ่งมี 2 ตัวด้วยกันคือ UV-A กับ UV-B

แม้ว่ารังสี UV จะมีข้อดีคือมันเป็นแหล่งที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามิน ดีขึ้นมามากที่สุด และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเม็ดสีที่เหมาะสมในการปกป้องผิวจากแสงแดด แต่มันก็มีสิ่งที่เป็นอันตราย โดย UV-A ที่สามารถทะลุผิวหนังชั้นนอกเข้าไปถึงชั้นที่อยู่ข้างล่างได้ จะเป็นตัวทำลายองค์ประกอบในร่างกายจำพวกเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติก เซลล์ผิวเกิดการเสื่อนสภาพ เป็นสาเหตุให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยบนผิวหน้าได้ ส่วน UV-B เองก็มีความอันตรายยิ่งกว่าเพราะมันจะทำให้ผิวหนังบวมแดง พองและลอกหากโดนแสงแดดแผดเผาเป็นเวลานาน หรือเกิดอาการไหม้แดดที่เรียกว่า Sun Burn แถมถ้าโดนรังสีนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมันอาจจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย

เมื่อรู้ว่า UV ในแสงแดดนั้นเป็นอันตราย นักเล่นวินด์เซิร์ฟรวมถึงนักออกกำลังกายกลางแจ้งทั้งหลายจึงจำเป็นต้องหาเครื่องป้องกันตัว ซึ่งก็คือสารกันแดดนั่นเอง

สำหรับสารกันแดดแล้วมีหลักการทำงานอยู่ 2 แบบคือ แบบดูดซับรังสีไว้ก่อนจะทะลุเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง กับอีกแบบคือแบบที่สะท้อนรังสีกลับไป

 ในกลุ่มสารกันแดดแบบที่ดูดซับรังสีไว้จะมีทั้งแบบดูดรังสี UV-A และ UV-B ซึ่งกลุ่มที่ดูดซับรังสี UV-A จะมีสารอย่างแอนทรานิเลต (anthranilate) หรือเบนโซฟิโนน (benzophenone) ส่วนสาระสำคัญในกลุ่มดูดซับรังสี UV-B ชื่อซินนาเมต (cinnamate) และซาลิไซเลต (salicylate) โดยมีสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามระดับค่า SPF (sun protection factor) และ PFA (protection factor of UV-A) ของผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด แม้จะป้องกันรังสีได้ดีแต่ข้อเสียของสารกันแดดกลุ่มนี้คือ สารประกอบของตัวดูดซับรังสีนี้บางตัวก็สามารถซึมเข้าผิวหนังและทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นแพ้ได้

ส่วนในกลุ่มสารกันแดดแบบที่สะท้อนรังสีออกไปจะเป็นสารเคลือบผิวที่ทำหน้าที่คล้ายร่ม โดยสาระสำคัญที่ถูกใช้เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้คือ ซิงค์ ออกไซด์ (zinc oxcide) ไททาเนียม ออกไซด์ (titanium oxcide) และแมกนีเซียม ออกไซด์ (magnesium oxcide) เมื่อแสงแดดส่องมากระทบผิว รังสีส่วนใหญ่จะถูกสะท้อนกลับออกไป ทำให้มันสามารถป้องกันรังสีได้แต่ก็ไม่ดีเท่ากลุ่มแบบดูดซับรังสีไว้ แต่ก็ยังมีจุดดีในเรื่องผิวเกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่า

นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญที่ถูกเติมลงไปในสารกันแดดคือสารกันน้ำ เพราะนักกีฬากลางแจ้งที่ร่างกายผลิตเหงื่อขึ้นมาอาจจะกังวลว่าสารที่ทาไว้จะหลุดหรือเลือนจนไม่สามารถป้องกันรังสีไว้ได้ ยิ่งกับกีฬาทางน้ำแบบวินด์เซิร์ฟแล้วด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าระดับวัดกันเป็นนาทีด้วยการทดสอบผ่านการแช่น้ำ หลักๆ แล้วก็อยู่ที่ 40 กับ 80 นาที

การเล่นกีฬากลางแจ้งที่สัมผัสสายลมและแสงแดดตลอดเวลาแบบวินด์เซิร์ฟสามารถให้ความสุขได้อย่างมากมาย ยิ่งหากเตรียมตัวรับมือกับภัยแฝงที่มากับแสงแดดเป็นอย่างดี ก็ยิ่งทำให้กล้าออกไปลุยคลื่นและลมอย่างมีความมั่นใจได้มากขึ้น